รายงานผลก้าวหน้าการดำเนินการของคณะปฏิบัติการโครงการ Cloud Seeding (ต่อ)


ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2512 คณะเจ้าหน้าที่ของโครงการ ฯ ได้มาทดลองในท้องที่อำเภอหัวหินและอำเภอชะอำ โดยทำการบินสำรวจ 4 ครั้ง และบินปฏิบัติการ 3 ครั้ง รวมเป็น 7 ครั้ง โดยใช้สนามบินบ่อฝ้ายและยึดเอาบริเวณอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเป็นเป้าหมาย การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เครื่องบิน เซสน่า ชนิดเครื่องยนต์เดียว 1 เครื่อง โปรยก้อนน้ำแข็งแห้งเหนือยอดเมฆและใช้เครื่องบินชนิดเดียวกันอีกเครื่องหนึ่ง พ่นน้ำใต้ฐานเมฆ ปรากฏว่าเมฆรวมตัวกันหนาแน่นขึ้นจนกลายเป็นเมฆคิวมูลัสสีดำเข้มทั้งก้อน ลอยตัวห่างจากบริเวณอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ไปทางเขาสามร้อยยอดและกลายเป็นฝนตกลงสู่บริเวณนั้น




ครั้งที่ 2 ทำการปฏิบัติการเช่นเดียวกัน แต่ได้ปรับปรุงวิธีการเสียใหม่โดยใช้เกลือผสมกับน้ำพ่นในอัตราส่วน 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร พ่นใต้ฐานเมฆแทนน้ำเปล่า ๆ การปฏิบัติการครั้งนี้สามารถบังคับให้เมฆลอยตัวมาจากทะเลทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาเต่าก่อและรวมตัวกันเป็นเมฆคิวมูลัสสีเทาเข้มได้ในเวลารวดเร็วยิ่งขึ้น คือใช้เวลาเพียง 10 นาที่ เท่านั้น แล้วตกเป็นฝนลงสู่พื้นที่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้นกว่าเดิม 10 เซนติเมตร


สำหรับการปฏิบัติการครั้งที่ 3 ได้ทำในวันที่มีท้องฟ้าโปร่ง มีเมฆคิวมูลัสลอยเป็นก้อนกระจัดกระจายอยู่บ้าง โดยใช้เครื่องบินลำหนึ่งโปรยก้อนน้ำแข็งแห้งในอัตราส่วนที่มากเกินปกติบนยอดเมฆที่สูง 8,000 ฟุต และใช้เครื่องบินอีกลำหนึ่งพ่นน้ำเกลืออัตรส่วนที่เข้มข้นกว่าเดิม คือใช้เกลือ 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร พ่นเข้าใต้ฐานเมฆขณะที่ก้อนเมฆก่อตัวและรวมตัวเป็นเมฆคิวมูลัสสีเทาเข้มเต็มที่แล้ว ปรากฏว่าเมฆได้รวมตัวกันอย่างรวดเร็ว เป็นเมฆคิวมูลัสสีเทาเข้มภายในเวลาเพียง 10 นาที


จากผลปฏิบัติการที่ผ่านมาแล้วพอจะตั้งเป็นข้อสังเกตุและสรุปได้ดังต่อไปนี้คืิอ
(1) เป็นที่มั่นใจได้ว่ากรรมวิธีโปรยก้อนน้ำแข็งแห้งเข้าไปในเมฆคิวมูลัส จะสามารถบังคับให้เมฆก่อและรวมตัวหนาแน่นกลายเป็นเมฆฝนสีเทาเข้มพร้อมที่จะตกเป็นฝนได้แน่นอน หากความชื้นสัมพันธ์ทางพื้นดินไม่ต่ำกว่า 74 เปอร์เซนต์ ถ้าปริมาณความชื้นสัมพันธ์ยิ่งสูงฝนก็จะยิ่งตกเป็นปริมาณมากขึ้นตามลำดับ ถ้าความชื้นสัมพันธ์อยู่ในระดับใกล้เคียง 74 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝนที่ตกจะน้อยเพราะถูกความร้อนจากพื้นดินดันให้ละอองฝนลอยตัวกลับขึ้นไปเป็นเมฆตามเดิม
(2) ก้อนเมฆที่ก่อและรวมตัวจากผลการปฏิบัติการนี้จะทำให้เมฆคิวมูลัสสีขาวที่ลอยอยู่ใกล้เคียงก่อและรวมตัวกันเข้าเป็นเมฆฝนคิวมูลัสสีเทาเข้มไปด้วย หากมีเมฆแบบเดียวกันลอยอยู่ใกล้เคียงก็จะเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่
(3) ถ้าโปรยน้ำแข็งแห้งด้วยอัตราที่มากเกินไปแล้วพ่นน้ำเกลือในอัตราที่เข้มข้นสูงเกินไปจะทำให้เมฆเกิดสลายตัวเป็นก้อนเล็กๆ และถูกลมพัดกระจัดกระจายไป ดังนั้นแสดงว่าถ้าโปรยก้อนน้ำแข็งแห้งในอัตราที่มากเกินปกติจะทำให้ก้อนเมฆคิวมูลัสที่กำลังก่อตัวจะเป็นฝนสลายตัวได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบังคับฝนมิให้ตกในฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งยังช่วยลดอุทกภัยลงอีกทางหนึ่งด้วย
(4) การบังคับเมฆให้เป็นฝนในเขตประเทศร้อนเช่นประเทศไทยนี้ ในปัจจุบันยังหาข้อมูลที่จะศึกษาได้น้อยมาก ข้อมูลที่พอจะหาได้ก็มักเป็นรายงานของต่างประเทศที่มีอุณหภูมิต่ำและเมฆก็ไม่เหมือนกัน



ฉะนั้น จากประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติในเบื้องต้นนี้ย่อมเป็นแนวทางที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการทำฝนอยู่เป็นอันมาก แต่ก็ยังมีข้อมูลและปัจจัยอื่นๆที่ควรจะได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาอีกต่อไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะปฏิบัติการได้ผลแน่นอนและประหยัดยิ่งขึ้น ก่อนท่ี่จะได้นำโครงการนี้ไปขจัดปัญหาความแห้งแล้งและป้องกันอุทกภัยต่อไปในอนาคต ซึ่งกระทรวงเกษตรจะได้กราบบังคมทูลถวายรายงานใต้เบื้องยุคลบาทต่อไปเป็นระยะๆ