ประวัติอาจารย์เมธา รัชตะปีติ


ภาพที่1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังอาคารทรงงานปฏิบัติการฝนหลวง
ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เพื่อทรงบรรยายภาพตำราฝนหลวงพระราชทาน แก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล
ในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียว
และบุคคลทางด้านซ้ายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
คืออาจารย์เมธา รัชตะปีติ (เสื้อซาฟารีสีกรมท่า)



อาจารย์เมธา รัชตะปีติ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ตั้งแต่แรกเริ่มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริและ พระราชทานแนวพระราชดำรินั้นแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 เพื่อศึกษาวิเคราะห์ วิจัยลู่ทางเป็นไปได้ในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งอาจารย์เมธา รัชตะปีติ อาสาสมัครเป็นนักวิชาการคนแรก ที่เข้าร่วมทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นในปี พ.ศ.2512 และทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงจนในหลวงทรงสามารถประดิษฐ์คิดค้นและสรุปเป็นขั้นตอนกรรมวิธีการทำฝนจากเมฆอุ่นพระราชทาน ให้ใช้เป็นเทคโนโลยีฝนหลวง สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้งช่วยเหลือราษฎรตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา



ด้านเกษตรวิศวกรรม พ.ศ. 2498-2518


อาจารย์เมธา รัชตะปีติเป็นผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร วิศวกรรมและนักวิจัยประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงของประเทศ


ผลงานสำคัญของอาจารย์เมธา รัชตะปีติ ท่านออกแบบประดิษฐ์เครื่องมือและเครื่องจักรลดความชื้น ในเมล็ดธัญญพืชด้วยพลังงานความร้อนและพลังงานแสงอาทิตย์ แบบการค้าหรืออุตสาหกรรม แบบหมู่บ้าน หรือสหกรณ์และแบบชาวบ้าน ออกแบบประดิษฐ์และสร้างยุ้งฉางตัวอย่างที่ลดหรือควบคุมความชื้นในตัว ทั้งแบบยุ้งไม้ และยุ้งเหล็ก ในพระราชวังดุสิต (สวนจิตรลดา) เป็นต้น


อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ได้รับเชิญในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจักรกลการเกษตรจาก FAO ให้เดินทางไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องมือใช้ในการทำนาดำให้แก่ประเทศ Sierra Leone ในทวีปอาฟริกา และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไปร่วมประชุมระดับนานาชาติ


ในปี พ.ศ.2498 ได้รับคำเชิญจากองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ ให้เดินทางไปให้คำแนะนำในงาน Machinery and Equipment Conference และ Workshop ณ ประเทศ Ceylon (ชื่อในชณะนั้น)

ในปี พ.ศ.2501 ได้รับคำเชิญจากองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ ให้เดินทางไปให้คำแนะนำในงาน Farm Mechanization Conference ณ ประเทศอังกฤษ

ประมาณปี 2503 ได้รับคำเชิญจากองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ ให้เดินทางไปให้คำแนะนำในงาน International Rice Conference ในกลุ่ม Farm Mechanization ณ ประเทศฟิลิปปินส์

ประมาณปี 2505 อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ได้รับเลือกให้เป็นประธานในการประชุมกลุ่ม Farm Mechanization โดยในปีนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับ FAO จัดงานInternational Rice Conference ณ กรุงเทพมหานครฯ

ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับคำเชิญจากองค์การอาหารและเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ ให้เดินทางไปให้คำแนะนำในงาน World Rice and Mechanization Conference สนับสนุน International Rice Year ณ ประเทศอังกฤษ



ประสบการณ์ด้านฝนหลวงของอาจารย์เมธา รัชตะปีติ จนถึงปี พ.ศ.2531


อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติการฝนหลวง ภายใต้การบัญชาการและอำนวยการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฏร ในระหว่าง พ.ศ. 2515-2517 และยังได้ดำรงตำแต่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงเป็นคนแรก ซึ่งอาจารย์เมธา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกร์ และได้รับไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นองค์กรรองรับโครงการฝนหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.2518 และยังคงมีบทบาทและหน้าที่ด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฎรตลอดมาจนเกษียณอายุราชการในปี 2531


ในระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิบัติการฝนหลวงและผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงนั้น อาจารย์เมธา มีผลงานสำคัญ ในการบริหารและพัฒนาโครงการฝนหลวงให้ก้าวหน้า ทั้งเชิงปริมาณและประสิทธิภาพ ดังนี้


ด้านปฏิบัติการฝนหลวง สามารถขยายขีดความสามารถจากเดิมในปี 2515 มีคณะปฏิบัติการฝนหลวงเพียง 2 คณะ ขยายเป็น 3 คณะในปี 2518 จนถึง 6 คณะในปี 2530


ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง มีบทบาทรองรับการค้นคว้าทดลองและประดิษฐ์ คิดค้นเทคนิคในการประยุกต์เทคโนโลยีฝนหลวงให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น ที่ทรงพัฒนาด้วยพระองค์เองได้แก่ เทคนิคการใช้น้ำแข็งแห้งเพิ่มปริมาณฝน เทคนิคการเคลื่อนย้ายเมฆฝนจากเทือกเขาให้ฝนตกสู่พื้นที่ ๆ ต้องการฝน เทคนิคการขยายอาณาเขตฝนตกสวนทิศทางลม การโจมตีเมฆอุ่นด้วยเทคนิค Sandwich, เทคนิคการทำลายเมฆหมอก เทคนิคการทำลายหรือลดความรุนแรงพายุลูกเห็บ


ระหว่าง พ.ศ.2502-2531 ได้รับการยอมรับและในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนในเขตร้อน (ฝนหลวง) และได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยให้เข้าร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ (หรือการทำฝน) กับองค์กรต่างประเทศทั้งระดับทวิภาคี ได้แก่ สหัรัฐอเมริกา แคนาดา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ระดับภูมิภาค ได้แก่ ASEAN SUB – COMMITTEE ON CLIMATOLOGY ของ WMO ในภูมิภาคแปซิกฟิคระดับนานาชาติ ได้แก่ WORLD METEOROLOGY ORGANIZATION (WMO) ของ UNITED NATIONS (UN)


ได้รับเชิญในฐานะผู้เชี่ยวชาญฝนหลวง และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ รวมทั้งฝึกอบรมและสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวง รวมทั้งให้คำแนะนำในการก่อตั้งกิจกรรมการทำฝนให้แก่มิตรประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังคลาเทศ และ โอมาน



ประสบการณ์ในช่วงหลังจากเกษียณอายุราชการของอาจารย์เมธา รัชตะปีติ ในปี 2531 (พ.ศ.2531-2540)


อาจารย์เมธา ได้รับเชิญจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรระหว่าง พ.ศ. 2533-2535


ได้รับการจัดให้อยู่ในรายชื่อผู้เชี่ยวชาญการดัดแปรสภาพอากาศให้ เกิดฝนในภูมิภาคเขตร้อนของ UNDP และได้รับการเชิญจาก UNDP และได้รับการเชิญจาก UNDP ตามการร้องขอของประธานาธิบดีประเทศฟิลิปปินส์ ไปให้คำแนะนำถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการทำฝน เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์ประสบปัญหาแห้งแล้งอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ.2536


ในปี พ.ศ. 2537-2540 แม้จะไม่มีภาระหน้าที่โดยตรง แต่ยังคงติดตามและทราบความเคลื่อนไหวของกิจกรรมฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อปรึกษาหารือเมื่อได้รับการร้องขอ และได้รับเชิญให้ร่วมบรรยายในการสัมมนาเป็นครั้งคราว



ประสบการณ์ในช่วงที่โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา ติดตามตัวมาช่วยงานฝนหลวง ระหว่าง พ.ศ. 2541-2548


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรีบางท่าน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามตัวอาจารย์เมธา รัชตะปีติ ให้กลับมาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทาน ที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีต โดยเข้าร่วมปฏิบัติการกับนักวิชาการฝนหลวงของคณะปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งเกิดไฟป่าลุกลามรุนแรงถึงขึ้นวิกฤติต่อเนื่องนานนับเดือน การดับไฟป่าพรุโต๊ะแดงด้วยมาตรการอื่นๆ ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศสามารถดับได้เป็นจุด ๆ เป็นครั้งคราว – แต่กลับคุขึ้นมาใหม่อีก การปฏิบัติฝนหลวงดับไฟป่าตามข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทานดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์อย่างสมบูรณ์ สามารถควบคุมไฟป่าให้คืนเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างสิ้นเชิงภายใน 3 วัน และยังปฏิบัติการต่ออีก 7 วัน สร้างความชุ่มชื้นทั้งผิวดินอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันมิให้ไฟป่ากลับคุขึ้นมาอีกเช่นมาตรการอื่น ๆ


สืบเนื่องจากผลสัมฤทธิ์การดับไฟป่าพรุโต๊ะแดงในปี 2541 สภาวะแห้งแล้งยังต่อเนื่องมาจนถึงฤดูแล้งปี 2552 ยังโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวในการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง พ.ศ. 2542 จนสัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์


ในการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้งปี 2542 ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคฝนหลวงควบคู่ไปด้วย โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา รัชตะปีติ มีส่วนร่วมในการค้นคว้าทดลองและพัฒนากรรมวิธี จนทรงสามารถประดิษฐ์คิดค้นเป็นนวัตกรรมในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากทั้งเมฆอุ่นและ เมฆเย็นพร้อมกัน โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า เทคนิค Super Sandwich และทรงประดิษฐ์แผนภาพ (ภาพกราฟฟิค) ขึ้นตอนกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศด้วยเทคนิค Suprer Sandwich ด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้ใช้เป็นตำราฝนหลวงในการปฏิบัติการฝนหลวงจนถึงปัจจุบันและปีต่อๆ ไป


จากผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ปฏิบัติภารกิจจนสัมฤทธิ์ผล ดังนี้:


โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ทำควาามเข้าใจทางวิชาการและถ่ายทอดตำราฝนหลวงพระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวง ให้สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา

ในปี 2542 เดียวกัน โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ยกร่างเอกสารประกอบคำขอเพื่อจดสิทธิบัตรตำราฝนหลวงดังกล่าว ทั้งเป็นภาษาไทยสำหรับจดสิทธิบัตรในประเทศ และเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อจดสิทธิบัตรต่างประเทศจนแล้วเสร็จและทูลเกล้าฯ ถวาย

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจดสิทธิบัตรฝนหลวงในพระปรมาภิไธย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ยกร่างของอาจารย์เมธา รัชตะปีติ เป็นหลัก อาจารย์เมธา รัชติปีติ จึงได้รับเชิญในฐานะ ผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เข้าร่วมใน คณะทำงานโครงการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับแต่งตั้งให้เป็น ประธานคณะทำงานยกร่างคำขอจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนสำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าถวายสิทธิบัตร การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2546 สำหรับการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 1491088 ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้ชื่อ Weather Modification by Royal Rainmaking Technology เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548


และอาจารย์เมธา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการจัดเตรียมเอกสารเชิดชูพระเกียรติ ประกอบข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คณะรัฐมนตรีมีมติเฉลิมพระเกียรติในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนด ให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา


อาจารย์เมธา ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการและจัดเตรียมเอกสารประกอบข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะที่ปรึษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง รวม 12 ท่าน ประกอบด้วย องคมนตรี 3 ท่าน เลขาธิการของส่วนราชการฝ่ายพระราชวัง 5 ท่าน และโครงการส่วนพระองค์ 4 ท่าน ซึ่งอาจารย์เมธา รัชตะปีติ เป็นผู้หนึ่งในคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงด้วย มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล ให้ข้อปรึกษาหารือและสนับสนุนให้การดำเนินงานโครงการฝนหลวงสัมฤทธิ์ผลตามพระบรมราโชบาย ตำราฝนหลวง และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทานรวมทั้งสิทธิบัตรฝนหลวงที่ทรงจดไว้ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545


อาจารย์เมธา เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาโครงการฝนหลวง ให้มีความสำคัญระดับชาติ และเป็นโครงการที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีการสืบทอดให้พัฒนาก้าวหน้าสืบไป จนสำเร็จลุล่วงและคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546


อาจารย์เมธา ได้รับมอบนโยบายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้จัดทำเอกสารเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เฉลิมพระเกียรติในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งฝนหลวง จนได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เผยแพร่ในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ในปี 2545 ได้รวม 3 เล่ม คือ


(1)โครงการพระราชดำริฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการฝนหลวงให้เข้มแข็ง ยั่งยืนและสืบทอดให้พัฒนาก้าวหน้าสืบไป ซึ่งปลัดกระทรวงฯ ได้กราบบังคมทูลทรงทราบและคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว

(2)ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ เป็นเอกสารที่ประมวลพระราชกรณียกิจฝนหลวงที่ทรงประกอบ ณ ท่าอากาศยานหัวหิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ปัจจุบัน (2547) หน้าที่และความรับผิดชอบโครงสร้างองค์กรและบุคลากร ระบบงานแผนงานหลัก ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความเห็นชอบ ให้เป็นแผนแม่บทในการก่อตั้งศูนย์ฯ ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างเร่งด่วน

(3)ประมวลผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติการฝนหลวงตามพระบรมราโชบาย พ.ศ.2542-2545 หนังสือเฉลิมพระเกียรติทั้ง 3 เล่ม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2545


อาจารย์เมธา มีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามแผนแม่บทที่ระบุไว้ในเอกสาร ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น
ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน (สนองพระราชกระแส) จนสำเร็จลุล่วงสามารถปฏิบัติภารกิจตามแผนงานหลักได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานทรงทราบและทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจ ห้องทรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วตั้งแต่ปลายปี 2545 ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและปฏิบัติการฝนหลวงตามพระบรมราโชบาย


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียนเชิญและแต่งตั้ง นายเมธา รัชติปีติ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จนกว่าจะขอลาออกหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ


และในวันที่ 6 ธันวาคม 2552 อาจารย์เมธา รัชตะปีติ ได้ล้มป่วยและเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลศิริราช โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 สิริอายุรวม 88 ปี 1 เดือน



ประวัติส่วนบุคคลของอาจารย์เมธา รัชตะปีติ


วัน เดือน ปี 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2470
นามบิดา ร.ต.อ.หลวงประสาทสุขนิกร
นามมารดา นางทองคำ รัชตะปีติ
นามคู่สมรส นางพวงเพชร นามสกุลเดิม เครือประเสริฐ
นามบุตร-ธิดา 1.นางอนันตพร เสาวภายน
2.นางดวงธันวา เอฟแวนส์
3.นายอิทธิพล รัชตะปีติ
4.นางกรวิกา รัชตะปีติ
5.นางสุกฤตา ศุภวิธาน
ตำแหน่งปัจจุบัน -ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตร
-ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตร
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์
การศึกษา -ปริญญาตรีด้านกสิกรรมและสัตวบาล(สาขาเกษตรกลวิธาน)
-Academic Training (Graduate level) California Polytechnic State College : Faculty of Agricultural Engineering, Missouri University (2498-2500) และ Research Scholar (Graduate Level) on Agricultural Engineering : International Rice Research Institute, Rockefeller Foundation University of The Philippines (2502-2503)


ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายเมธา รัชตะปิติ ท.ว.จ.,ท.ช.,ท.ม.,ภ.ป.ร.๔ . 2558 . หน้า5-16 . บริษัท สตาร์บูมอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด






ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน



ความเป็นมาที่น่าสนใจของศูนย์ฝนหลวงหัวหิน
ประวัติความเป็นมาของศูนย์ฝนหลวงหัวหิน
ประวัติวันเทคโนโลยีไทย 19 ตุลาคม
ที่มาวันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน
ประมวลภาพท่าอากาศยานหัวหินจากสนามบินบ่อฝ้าย ที่เริ่มเข้าไปใช้เป็นฐานปฏิบัติการค้นคว้าทดลองการทำฝนตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ...
ประมวลภาพการพัฒนาและก่อสร้างอาคารศูนย์ฝนหลวงหัวหินที่ดำเนินการไปแล้วระหว่างปี พ.ศ.2545-2547
>ประมวลภาพการพัฒนาและก่อสร้างอาคารและสถานที่ของศูนย์ฝนหลวงหัวหินที่สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2548
ประมวลภาพการพัฒนาและก่อสร้างอาคารและสถานที่ของศูนย์ฝนหลวงหัวหินที่สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2549-25510
ประมวลการดำเนินการตามภาระหน้าที่ของศูนย์ฝหลวงหัวหิน ปัจจุบันจนถึงปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา พ.ศ.2550
>ประมวลภาพที่เสด็จพระราชดำเนินมาศูนย์ฝนหลวงหัวหินตั้งแต่ พ.ศ.2512 จนถึง พ.ศ.2544